วันศุกร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2557

พุทรา

พุทรา

พุทรา ผลไม้รูปทรงกลมหรือรูปไข่ บางชนิดทรงกลมปลายแหลมคล้ายละมุดไทย ในเมืองไทยมีทั้งพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกกันมานาน เช่น พันธุ์เจดีย์ สามรส สงวนทอง ซึ่งมีผลขนาดเล็กถึงปานกลาง เนื้อละเอียดและบาง กลิ่นรสเข้มข้น พันธุ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศและปรับปรุงพันธุ์ จะมีผลใหญ่ เนื้อแน่นและหนา กลิ่นรสอ่อนกว่า เช่น พันธุ์แอปเปิล นมสด น้ำผึ้ง

พุทราประกอบไปด้วยเส้นใยอาหาร ช่วยให้รู้สึกอิ่มเร็ว และช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น เหมาะกับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก มีคาร์โบไฮเดรตซึ่งมีหน้าที่หลักในการให้พลังงานแก่ร่างกายเพื่อใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ในเนื้อพุทรา 100 กรัม มีวิตามินซี 44 มิลลิกรัม วิตามินซีมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและต้านสารอนุมูลอิสระ โดยเฉพาะพันธุ์พื้นเมืองและพันธุ์แอปเปิล จะมีวิตามินซีสูงกว่าพันธุ์อื่น ๆ แคลเซียมในพุทราช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน โพแทสเซียมช่วยลดความดันโลหิตและควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ จึงป้องกันโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจได้ อีกทั้งยังมีฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระดูกและฟันรองจากแคลเซียม

สรรพคุณของพุทราพันธุ์พื้นเมืองตามตำรายาไทยคือ ใช้ผลดิบรสฝาด กินแก้ไข้ ผลสุกรสหวานฝาดเปรี้ยว กินแก้ไอ ขับเสมหะ เปลือกต้นต้มน้ำดื่ม แก้อาเจียนหรือท้องร่วง ใบสดตำสุมหัว แก้หวัด คัดจมูก ในเวียดนามใช้เมล็ดสด 1-2 เมล็ดหรือเมล็ดแห้ง 6-12 เมล็ด บดให้เป็นผง กินแก้อ่อนเพลีย ทำให้นอนหลับดี และใช้ใบแห้ง 20-40 กรัม ต้นน้ำดื่มแก้หืด

พุทราอีกชนิดที่ได้ยินชื่อบ่อยคือ พุทราจีน (Chinese date) จัดอยู่ในสกุล Ziziphus เช่นเดียวกับพุทรา แต่ผลมีขนาดเล็กกว่า ผลสดมีเปลือกสีน้ำตาลแดงเนื้อในสีขาว ค่อนข้างซุย รสหวาน เรามักพบเห็นพุทราจีนในแบบอบแห้ง ชาวจีนถือว่าพุทราจีนแห้งเป็นยา มีสรรพคุณในการบำรุงเลือด บำรุงประสาท และแก้อาการนอนไม่หลับ แต่ผู้ป่วยเบาหวานไม่ควรกินมาก เพราะพุทราจีนมีปริมาณน้ำตาลสูง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น