ครั้งแรกที่เรามีโอกาสได้เจอกับสาวน้อย ตาคม อารมณ์ดี เธอเอ่ยทักทายกับเราด้วยประโยคที่ไม่คุ้นหูว่า “อัส
ลามมุอาลัยกุม” แปลว่า ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน ซึ่งเป็นคำทักทายของศาสนาอิสลาม หรือ ที่เรียกว่าการให้และรับ “สลาม” เป็นการอวยพรต่อกันโดยวอนขอพรจากพระเจ้า (องค์อัลเลาะฮ์) ซึ่งคล้ายๆกับในศาสนาอื่นๆ เช่น ขอคุณพระคุ้มครอง หรือ ขอพระเจ้าทรงอำนวยพร นั่นเอง |
“พิม” พิมรา สีดอกบวบ หรือที่เพื่อนชอบเรียกกันว่า “จัสมิน” เธอเป็นสาวมุสลิมวัย 23 ปี สำเร็จการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และกลายเป็นเศรษฐีรุ่นเยาว์เจ้าของเครื่องสำอางฮาลาล “พิมมารา PIMMARA” แบรนด์ยอดนิยมของสาวมุสลิมในภาคใต้ เจ้าแรกของประเทศไทยที่ประสบความเร็จในชีวิตอีกหนึ่งคน จนกลายเป็นไอดอลของสาวมุสลิมที่ทั้งเก่ง และมีความสามารถเกินวัย
พิม ถือโอกาสย้อนอดีตสมัยเรียนให้ Life On Campus ได้ฟังว่า เธอจบการศึกษาระดับมัธยมปลายจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี สายศิลป์ภาษาญี่ปุ่น และความชื่นชอบในการเขียน การเล่าเรื่องราวต่างๆ พิมจึงเลือกเรียนในสาขาวารสารศาสตร์ การเรียนการสอนของ ม.หอการค้าไทย จากการแนะนำของคุณย่า Working woman วัย 70 ปี ซึ่งทำบริษัทเกี่ยวกับข่าวอยู่ด้วยในตอนนั้น เขียนคอลัมน์การเกษตรให้กับหนังสือพิมพ์แนวหน้า |
อดีตเด็กหอข่าว นสพ.ฝึกปฏิบัติ
คุณย่าแนะแนวทางให้พิมเลือกเรียนในสิ่งที่ตนเองชอบก่อนเป็นหลัก ความทันสมัยในทุกๆ ด้านอย่างครบครัน ของสาขาวารสารฯ สอนทุกอย่าง แม้แต่วิชาถ่ายภาพซึ่งชอบทำอยู่แล้ว พิมเรียนถ่ายภาพตั้งแต่การล้างฟิล์มจนกระทั่งอัดภาพเอง ที่นี่มีห้องมืดสำหรับล้างฟิล์มด้วย สอนการออกแบบต่างๆ การเขียนข่าว การเขียนคอลัมน์ การจัดหน้าหนังสือ จนกระทั่งปี 3ตอนนี้มีการทำหนังสือพิมพ์หอข่าวที่เด็กๆ ในสาขาวารสารจะต้องร่วมมือกันทำเป็นหนังสือพิมพ์จริงๆ ขึ้นมาและส่งโรงพิมพ์ ตีพิมพ์ และขายจริงๆในรั้วมหาวิทยาลัย เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมาก เรามีโอกาสได้ลองทำงานจริงๆ โดยมีอาจารย์เก่งๆ เป็นที่ปรึกษาให้ตลอด”
“สำหรับการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของพิม บอกตามตรงว่าเป็นคนที่เรียนไม่เก่งมาก แต่จะตั้งใจและพยายามไม่ขาดเรียน และที่สำคัญการแต่งกายชุดนักศึกษาของพิมอาจจะไม่เหมือนเพื่อนๆ ทั่วไป เพราะต้องคลุมผมมาเรียนทุกวัน แต่สังคมในมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ทำให้พิมรู้สึกแตกต่างจากใครๆ เพราะที่มหาวิทยาลัยเปิดกว้างสำหรับทุกศาสนา เรามีทั้งชมรมมุสลิม ชมรมคริสเตียน และชมรมพุทธศาสน์ ทุกศาสนาคือเพื่อนกันและสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ" |
ก้าวแรกกับธุรกิจ “ผ้าคลุมผม” แฟชั่นสาวมุสลิม
พิม เป็นสาวมุสลิมคนหนึ่งที่ใส่ใจกับการแต่งกายที่ถูกต้องตามหลักศาสนาของชาวมุสลิม โดยเฉพาะผ้าคลุมผม ที่เธอมักจะเลือกซื้อผ้ามาตัดและใช้เองตามสไตล์ที่ตนเองชอบ และนั่นเอง คือ จุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจ “ผ้าฮิญาบ” กลายเป็นแฟชั่นผ้าผ้าคลุมผมของสาวมุสลิมที่ได้รับความนิยมในเฟสบุคและทวิตเตอร์ ที่พิมเลือกเป็นช่องทางในการขายสินค้า
“จริงๆ ไม่ได้คิดที่จะทำธุรกิจ หรือขายของ แต่ช่วงที่เฟสบุคกำลังได้รับความสนใจ ก็มีเพื่อนๆ ขายของกันเยอะมาก พิมก็อยากลองทำธุรกิจเหมือนคนอื่น ก็กลับมาคิดว่า เราจะขายอะไรที่เหมาะกับตัวเรา จนสุดท้ายก็เลือกขายผ้าคลุมผมของชาวมุสลิมที่ยังไม่มีใครขาย บวกกับความชอบส่วนตัวที่เราเองก็เป็นคนชอบคลุมผ้า ชอบที่ซื้อผ้ามาตัดและใช้เอง จึงคิดที่จะใช้จุดนี้มาสร้างสินค้าเป็นของตัวเอง" |
ลงทุน 2,000 บาท เดินตลาดซื้อผ้า สั่งตัดเย็บ
พิมเริ่มต้นทำธุรกิจด้วยเงินแค่ 2,000 บาท ลงพื้นที่สำรวจตลาดขายผ้า วันไหนไม่มีเรียน หรือวันว่าง พิมจะใช้เวลาช่วงนั้น นั่งรถเมล์ไปซื้อของที่ประตูน้ำ หรือไม่ก็นั่งเรือด่วนจากบ้านที่นนทบุรีไปสำเพ็ง เลือกดูผ้า ซื้อแล้วก็กลับมาสั่งตัด พร้อมประเมินราคา ผ้า 1เมตร ทำผ้าคลุมได้กี่ผื่น ต้นทุนค่าตัดเย็บเท่าไร ได้กำไรเท่าไร
“ถามว่าได้กำไรเยอะไหม ผ้า 1 ผื่นได้ไม่ถึงร้อยบาท แต่ถ้าสั่งหลายผื่นก็พอจะได้กำไร ยิ่งเรามีสินค้าเยอะ เราก็จะขายได้เยอะ และที่สำคัญพิมจะเลือกซื้อผ้าในแบบที่ตัวเองชอบ และรู้ว่า ผ้าแบบไหนที่สามารถนำมาใช้เป็นผ้าคลุมผมได้ สีแบบไหน ลายแบบไหนที่สวยและถูกต้องตามหลักศาสนา จากนั้นก็ใช้ตัวเอง เป็นพรีเซนเตอร์ โดยมีคุณพ่อเป็นคนถ่ายรูป และนำสินค้าทั้งหมดลงเฟส ให้ลูกค้าได้เห็นและเลือกซื้อได้สบาย ลูกค้าสามารถสั่งจองใต้ภาพ โอนเงิน ส่งสลิป และส่งสินค้าผ่านไปรษณีย์ บางวันก็แบกถุงผ้าไปส่งไปรษณีย์หน้ามหาวิทยาลัย หรือไม่ก็ให้คุณแม่เป็นคนส่งสินค้าให้" |
|
มหา'ลัย หนุน นักศึกษาทำธุรกิจระหว่างเรียน
พิมบอกอีกว่า ช่วงที่สินค้ากำลังได้รับความนิยม เธอมีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการตั้งไข่ทางธุรกิจ หรือ Egg Project กับทางมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนให้นักศึกษาทำธุรกิจระหว่างเรียน โดยเฉพาะสินค้าของเธอนั้นตอบโจทย์ความต้องการของชาวมุสลิมที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน
“พิมเป็นนักศึกษารุ่นแรกในโครงการตั้งไข่ทางธุรกิจ ซึ่งอาจารย์และท่านอธิการบดีให้ความสำคัญกับชาวมุสลิมและเห็นว่าสินค้าของเราเป็นโปรดักส์สำหรับชาวมุสลิมก็เลยช่วยโปรโมทในสื่อต่างๆให้ หลังจากนั้นก็มีคนรู้จักมากขึ้น จนกระทั่งเริ่มมีคนขายสินค้าเหมือนกับเรา จึงคิดเปลี่ยนมาขายเครื่องสำอาง โดยเริ่มต้นจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องสำอางประเภทครีมบำรุงยี่ห้อหนึ่ง ปรากฏว่า ยอดขายเดือนๆ หนึ่งขายได้เป็นแสน พิมจึงเริ่มศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์อย่างจริงจัง โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นชาวมุสลิม” |
สร้างแบรนด์ “พิมมารา PIMMARA”
จากที่เคยทำผ้าคลุมผมและขายเครื่องสำอาง ผลตอบรับดีมาก พิมจึงคิดอยากที่จะมีแบรนด์เป็นของตัวเอง ไม่อยากขายเครื่องสำอางยี่ห้อของคนอื่น อยากทำแบรนดิ้งเป็นชื่อของตัวเอง “ตอนแรกก็ไม่กล้าทำ กลัวว่าจะทำได้ไม่ดี แต่พอเราดูกลุ่มลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิมทั้งหมด เราจึงเชื่อว่า มุสลิมส่วนใหญ่จะซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์ของคนมุสลิมด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นอาหาร หรือของใช้ ถ้าเราทำสินค้าที่เจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มคนมุสลิมด้วยกัน จะทำให้ธุรกิจของเราได้รับความสนใจไม่น้อย
หลังจากที่มีโอกาสคุยกับโรงงาน ทางโรงงานช่วยดำเนินเรื่องทำฮาลาล พร้อมกับชูจุดเด่น คือ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ใช้สารสกัดจากออร์แกนิค จำพวกพืช ถั่นเตา รากชะเอมเทศ ส่วนสบู่ก็จะทำเป็นสบู่ฟักข้าว โดยทางโรงงานก็ปลูกเอง “ครีมบำรุงผิวมุสลิมฮาลาล เรื่องนี้ไม่มีใครคิดจะทำ ไม่มีใครนึกถึง เพราะคนคิดว่า ของกินเท่านั้นที่มีฮาลาล แต่จริงๆ แล้วผลิตภัณฑ์ที่เป้นเครื่องใช้ พวกครีม เครื่องสำอางก็ควรจะมีฮาลาลเหมือนกัน ฮาลาลนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้ใส่ส่วนผสมอะไรที่ไม่ฮาลาลเท่านั้น แต่มันหมายถึงความปลอดภัยด้วย”
**สินค้าฮาลาลคือสินค้าซึ่งเป็นที่ปราถนาของชาวมุสลิมโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารฮาลาล เพราะเป็นสินค้าที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์เพื่อการบริโภคได้โดยไม่ผิดหลักศาสนาอิสลาม |
|
สินค้ายอดนิยม ขวัญใจสาวใต้
กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่แบรนด์ “พิมมารา PIMMARA” มาจากกลุ่มลูกค้าเดิมจากธุรกิจขายผ้าคลุมผม และเครื่องสำอางค ซึ่งเป็นเพื่อนๆ สาวมุสลิมทางภาคใต้ที่รู้จักพิม ผ่านโซเชียลมีเดีย เฟสบุค ทวีตเตอร์ สูงสุดถึง 5,000 คน
“ลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นเพื่อนๆ ที่พิมรู้จักผ่านเฟสบุค ซึ่งก็มาจากพี่น้องมุสลิมที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงตลาดมุสลิมทั้งหมดมีแค่เพียง 10% เท่านั้นที่ไม่ใช่มุสลิม คือ เราเล็งตลาดมุสลิมอย่างเดียวแต่พี่น้องต่างศาสนาก็สามารถซื้อไปใช้ได้
จริงๆ แล้วผู้หญิงมุสลิมก็สามารถใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเหมือนกับทุกคน เพียงแต่ยังไม่มีใครลุกขึ้นมาทำสินค้า แบรนด์ที่เจาะกลุ่มเป้าหมายไปที่สาวมุสลิม หรืออาจจะไม่มีน้อย หรือยังไม่เป็นที่รู้จัก แต่สำหรับพิม พิมเลือกที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จัก ตอนนี้พิมอยากทำผลิตภัณฑ์สำหรับผู้หญิงอย่างเดียวไปก่อน โดยแยกกลุ่มลูกค้าในเรื่องเอจจิ้ง กลุ่มสิว กลุ่มไวท์เทนนิ่ง โดยจะมีตั้งแต่อายุ 15 ชึ้นไป กลุ่มวัยรุ่น 15-20 ปี กลุ่มวัยทำงาน หรือลูกค้าอายุ 70 ก็ยังมี” |
|
สวย เก่ง ครบสูตร
ด้วยระยะเวลาปีกว่าหลังจากที่พิมเรียนจบปริญญาตรี ถึงแม้เธอจะไม่ได้สานต่อความฝันที่อยากจะเป็นผู้ประกาศข่าวหญิงมุสลิม แต่เธอก็ไม่ลืมที่จะนำความรู้เกี่ยวการใช้สื่อและเทคโนโลยีมาใช้กับธุรกิจที่เธอสร้างขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรง ตั้งแต่สมัยเรียนจนกระทั่งปัจจุบัน
“ถามว่าเสียใจไหมที่ไม่ได้ทำงานตรงตามคณะที่เราเรียน ไม่เสียใจคะ เพราะจริงๆ ตั้งใจจะเรียนนิเทศศาสตร์ เอกวารสารศาสตร์ เพราะอยากที่จะเป็นนักข่าว เป็นผู้ประกาศข่าวอย่างที่ตั้งใจไว้ แต่ด้วยเหตุผลที่ว่า เรามีอาชีพที่รองรับอยู่แล้ว นั้นคือการขายสินค้าผ่านโซเชียล จนกระทั่งทำเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้ตัวเอง จ่ายค่าเทอมด้วยตัวเองตั้งแต่อยู่ปี 2 ซื้อรถ มีรถยนต์ขับตอนอยู่ปี 3 พอจบปี 4 ก็มีธุรกิจ มีแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเอง
การที่เราจะประสบความสำเร็จในเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่เราถนัดก็ได้ ถ้าเรามีความพยายาม เราทุกคนมีความสามารถและจุดเด่นในตัวเอง แค่ค้นหาให้เจอก็พอ การทำอะไรก็ตามทุกอย่างอยู่ที่ความตั้งใจ การเรียนมหาวิทยาลัยเป็นเพียงการเริ่มต้น ถ้าเรามีการเริ่มต้นที่ดี สิ่งดีดีก็จะตามมา มันไม่ยากที่เราจะทำในสิ่งที่ตัวเองใฝ่ฝันและทำให้พ่อแม่ภาคภูมิใจในตัวเราได้” |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น